2024-04-20

นับถอยหลังประชามติ ร่าง รธน. 7 สิงหา อนาคตที่คนไทยต้องร่วมตัดสินใจ



  นับถอยหลัง ลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 อนาคตที่คนไทยต้องร่วมกันตัดสินใจ เพราะอนาคตของสังคมไทยอยู่ในมือพวกเราทุกคน

 


         

นับจากวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อปี 2550 ผ่านมาเกือบสิบปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องตัดสินอนาคตร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะมีความแตกต่างจากครั้งที่แล้ว คือประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องเตรียมตัวไปออกเสียงใน 2 ประเด็นคำถาม ได้แก่


          1. ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ... อันมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ทั้งฉบับ



          2. ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ประเด็นคำถามพ่วงเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"


          แม้ข้อ 2 นี้อาจจะทำความเข้าใจได้ลำบากหากไม่เข้าใจระบบรัฐสภา แต่ถ้าจะให้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ สรุปความได้ดังนี้ คือ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" กับการจะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก ที่มาจากการสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงระยะเวลา 5 ปี หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้



          คำถามสำคัญ คือ ตอนนี้สังคมไทยเข้าใจขั้นตอนการออกเสียงประชามติมากน้อยแค่ไหน เข้าใจกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือกฎหมายดีพอหรือไม่ ใครจะมีสิทธิร่วมออกเสียงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตประเทศครั้งนี้บ้าง

 

 

 

ประชามติกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย


          ประชามติครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยเป็นการออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ อย่างไรก็ตามในเชิงประวัติศาสตร์การออกเสียงประชามติไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดนี้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนสามารถออกเสียงได้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 



          ต่อจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 และ 2517 ก็ได้มีบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็มีบทบัญญัติให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการออกเสียง หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการใดจะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน



          อย่างไรก็ดีนอกจากการออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่พบว่าประเทศไทยเคยมีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นอื่น ๆ

 

มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ เช็กคุณสมบัติก่อนออกจากบ้าน

          สำหรับการออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) เป็นหลัก โดยกำหนดคุณสมบัติและคุณสมบัติต้องห้ามของ "ผู้มีสิทธิออกเสียง" ไว้ 7 ข้อ ดังนี้

          1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับถึงวันออกเสียง) 

          2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง (เดิมกำหนดให้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการลงประชามติ)

          3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง

          4. ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

          5. ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

          6. ไม่ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

          7. ไม่วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


          ในด้านสถิติการลงประชามติครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิลงคะแนนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยพบว่า ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้มากกว่า 50 ล้านคน โดยภาคอีสาน มีพี้นที่และประชากรมากที่สุด เกือบ 22 ล้านคน มีผู้มีสิทธิออกเสียง 17 ล้านคน รองลงมาคือ ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) มีประชากรราว 15 ล้านคน มีผู้มีสิทธิออกเสียงในครั้งนี้เกือบ 13 ล้านคน



          ส่วนภาคเหนือ มีประชากร 12 ล้านคน มีผู้มีสิทธิออกเสียง 9 ล้าน 2 แสน กว่าคน และ ภาคใต้ มีประชากรรวมแล้วกว่า 9 ล้าน 2 แสนกว่าคน มีผู้มีสิทธิออกเสียง 6 ล้าน 8 แสนคน สำหรับกรุงเทพมหานคร มีจำนวนประชากรราว 6 ล้านคน และมีผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งนี้ 4 ล้าน 4 แสน


กฎ กติกาใหม่ คนต่างแดนไม่มีสิทธิ์ได้ออกเสียง


          มองคร่าว  ๆ พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของ "ผู้มีสิทธิออกเสียง" ไว้ลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2550 และปี 2554 และการเลือกตั้ง ส.ว. ทั่วประเทศ ปี 2551 และปี 2557 



          ทว่าเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะมีข้อกำหนดบางอย่างที่แตกต่างไป โดยเฉพาะไม่มีการกำหนดให้มีการ "ออกเสียงล่วงหน้า" หรือ "ออกเสียงนอกราชอาณาจักร" (เว้นแต่จะบินกลับประเทศไทย) จะมีก็เฉพาะการ "ออกเสียงนอกเขตจังหวัด" ซึ่งสามารถขอยื่นลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ election.dopa.go.th และทางไปรษณีย์ หรือไปยื่นขอลงทะเบียนด้วยตัวเองที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ (หมดเขตไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ตามลำดับ)

 

รายละเอียดของกำหนดการณ์ต่าง ๆ มีดังนี้ 


          - 17 กรกฎาคม 2559 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด

          - 22 กรกฎาคม 2559 จัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน

          - 27 กรกฎาคม 2559 วันสุดท้ายของของการเพิ่ม-ถอนชื่อ



          อนึ่งในการลงประชามติครั้งนี้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นดาวเหนือค้นหารายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง สถานที่ออกเสียง และแผนที่เดินทางไปยังหน่วยออกเสียง โดยการออกเสียงประชามติจะมีขึ้นพร้อมกันวันเดียว คือวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. เท่านั้น

 

 

กกต. นับเกณฑ์ผ่านประชามติร่าง รธน. อย่างไร



          ต่อเรื่องเกณฑ์การผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 วรรคสิบสอง ระบุไว้ว่า "ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างคะแนนเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์" เข้าใจง่าย ๆ คือ ประชามติครั้งนี้นับเฉพาะผู้ไปใช้สิทธิ์ และมีให้ Vote YES หรือ Vote NO เท่านั้น ไม่มีช่อง "ไม่ประสงค์ลงคะแนน" หรือ NO Vote


 
          สำหรับบัตรเสียหรือผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์ไม่นับเป็นเสียงที่คะแนนประชามติ (หากทำสัญลักษณ์อย่างอื่นนอกเหนือจากกากบาท และนอกจากช่องที่ทำเครื่องหมาย จะถูกระบุให้เป็น "บัตรเสีย" ทั้งหมด)


          โดยเหตุผลที่ต้องใช้วิธีคิดผลการออกเสียงประชามติเช่นนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า "คำว่า "คะแนน" ที่เติมลงไปนั้นหมายความว่าเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นคะแนน ดังนั้น "บัตรเสีย" หรือ "โนโหวต" ถือว่าไม่ใช้ "สิทธิ์" ไม่ถือเป็นคะแนน ซึ่งเป็นสากลทั่วโลกว่ากฎหมายเลือกตั้งระบุว่าบัตรเสียไม่นับเป็นคะแนน ส่วนคำว่าคะแนนเสียงข้างมากแปลว่าฝ่ายที่มาก (ไม่ใช่เสียงเกินครึ่ง) ของผู้ออกเสียงลงประชามติ"



          ตัวอย่างเช่น "คนไทย 67 ล้านคน มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน สมมติออกมาใช้สิทธิ์ 30 ล้านคน ลงคะแนนเห็นชอบ 12 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง บัตรเสีย 8 ล้านเสียง รวมเป็น 30 ล้านเสียง เราจะนับเฉพาะเสียงที่เป็นคะแนน คือ เสียงที่เห็นชอบ 12 ล้าน กับเสียงที่ไม่เห็นชอบ 10 ล้าน เมื่อ 12 ล้านมากกว่า 10 ล้าน ถือเป็นเสียงข้างมาก"



ว่าด้วยตัว "คำถามพ่วง" และการเลือกนายกรัฐมนตรี


          นอกจากเรื่องกฎ ระเบียบ ต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไปจากการเลือกตั้งหรือลงประชามติครั้งก่อน ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกในการลงประชามติครั้งนี้คือ คำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติ ซึ่งหากประชาชนส่วนใหญ่ที่มาลงประชามติ โหวตเห็นชอบกับคำถามพ่วงนี้ ก็จะต้องนำเนื้อหาในคำถามพ่วงไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญในเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี



          โดยคำถามพ่วงมีเนื้อหาใจความหลักว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"



          ประเด็นนี้นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ออกไปใช้สิทธิ์ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประโยค "ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"


          มองเผิน ๆ ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจระบบรัฐสภาก่อน คือ ระบบรัฐสภาของไทยมีอยู่ 2 ส่วน ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา (ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดจำนวนสภาผู้แทนราษฎรไว้ 500 คน และวุฒิสภา 250 คน) โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 159 กำหนดว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 


          ตีความจากมาตราข้างต้นหมายความว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่ว่า สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะเห็นชอบเลือกใคร โดยที่สมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง



          ดังนั้นในคำถามพ่วงที่บอกว่าให้การประชุมร่วมกันของ "รัฐสภา" เป็นผู้พิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี ก็หมายความว่า ทั้งสองสภาต้องทำหน้าที่ร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กำหนดไว้ในบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ


          หรือจะให้แปลเป็นประโยคสั้นก็คือ "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า จะให้สมาชิกวุฒิสภา ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ด้วยหรือไม่ ?"



บทเฉพาะกาล เกี่ยวข้องอะไรกับคำถามพ่วงประชามติ



          ต่อเรื่องบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องอะไรกับคำถามพ่วงประชามติ สามารถอธิบายแบบให้เห็นภาพและความเชื่อมโยงทั้งหมด ทั้งบทหลัก บทเฉพาะกาล และคำถามพ่วงได้ ดังนี้



          1. ในบทหลัก มาตรา 88 กำหนดว่า ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่พรรคจะมีมติเสนอชื่อให้ "สภาผู้แทนราษฎร" ลงมติเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อ



          นอกจากนี้ ในบทหลักมาตรา 159 กำหนดว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (จำนวน ส.ส. ทั้งหมด มี 500 คน เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ก็ต้องมีเสียงมากกว่า 250 เสียง)


          2.  ในบทเฉพาะกาล ( สิ่งที่อยู่ในบทเฉพาะกาลจะใช้บังคับในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้อยู่ตลอดไป) มาตรา 272 กำหนดว่า หากมีกรณีไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อตามที่พรรค การเมืองแจ้งไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง



          โดย ส.ส. จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ เกินกว่า 250 เสียง สามารถเสนอให้ "รัฐสภา" มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ และถ้า "รัฐสภา" มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา คือต้องมีเสียงมากกว่า 500 เสียง ก็สามารถให้ความเห็นชอบยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้



          จากคำอธิบายถามว่าสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีขยายไปยังสมาชิกวุฒิสภาหรือยัง ตรงนี้ต้องบอกว่าสิทธินี้ยังคงอยู่เฉพาะ "สภาผู้แทนราษฎร" เท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้บทเฉพาะกาลมีผลบังคับใช้ จึงต้องมีคำถามพ่วงตามมา คือ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไปโหวตเห็นชอบคำถามพ่วง การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่ใช่เลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่มี "วุฒิสภา" มาร่วมเลือกด้วย


          อย่างไรก็ตามในบทเฉพาะกาลว่าด้วยเรื่อง "การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น หลังการเลือกตั้งครั้งแรก" และคำถามพ่วง การให้ ส.ว. มาร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำได้เฉพาะในช่วง 5 ปีแรกเท่านั้น



          เรื่องเวลา 5 ปีแรก นับเป็นประเด็นสำคัญ  เพราะตามมาตรา 269 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล กำหนดไว้ว่า วุฒิสภา 250 คนในวาระเริ่มแรก ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีนั้น มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 



          7 สิงหาคม 2559 จะตัดสินใจ Vote YES หรือ Vote NO ก็ควรพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนรอบด้านทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน พึงระลึกไว้เสมอ "อนาคตของสังคมไทยอยู่ในมือพวกเราทุกคน"
 

 

 

ที่มา : ภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง , ข้อมูล : kapook.com

 

 

Natui Website 2016-07-20 15:25:20 2582