2024-04-27

จับตามอง “ชุดประจำชาติ” ในการประชุม APEC




ปิดฉากลงอย่างสวยงาม สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก หรือ APEC ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2557
            APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยนาย Bob Hawke  นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียในขณะนั้น
เพื่อต้องการตอบสนองการพี่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่ประเทศแถบเอเชีย แปซิฟิก  และภายในระยะเวลาไม่กี่ปี APEC ก็กลายเป็น เวทีหลักในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าเสรีของภูมิภาคในที่สุด
            ในการประชุมแต่ละครั้ง นอกเหนือจากข้อตกลงในความร่วมมือภายใต้บริบททางเศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวโลกให้ความสนใจและจับตามองคือ   “เครื่องแต่งกาย”ที่ประเทศเจ้าภาพ   จัดเตรียม ให้กับผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะสวมใส่เพื่อถ่ายภาพร่วมกันในวันสุดท้ายของการประชุม
 
            การแต่งการด้วยชุดประจำชาติของ ประเทศเจ้าภาพ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสำคัญนั้น เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยประเทศอินโดนีเซีย  ที่ได้จัดเตรียมชุดผ้าบาติกให้กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมสวมใส่  และนับแต่นั้นมา หลายครั้งที่ประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุม ได้จัดเตรียมชุดประจำชาติของตน ให้กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมสวมใส่เพื่อถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกในวันปิดงาน
 


ในปี พ.ศ 2541 (1998) มาเลเซียประเทศเจ้าภาพ ได้จัดเตรียมเสื้อผ้าบาติก ซึ่งเป็นเสื้อคอปกแขนยาว โดยแต่ละตัวจะมีลวดลาย และสีสันแตกต่างกัน สร้างความโดดเด่น และสะดุดตาให้กับผู้นำจากแต่ละเขตเศรษฐกิจไม่น้อยเลยทีเดียว
 


เมื่อประเทศชิลีได้เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2547 (2004) ทางเจ้าภาพได้เตรียม ชุดประจำชาติที่เรียกว่า "ชาแมนโต" (chamanto) ลักษณะเป็นเสื้อคลุมปอนโช  และพันธุ์นกต่างๆ ของชิลี 
 


ต่อมาในการประชุม APEC ปี 2548 (2005) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นโดยเฉพาะเพื่อเลือกเครื่องแต่งกายสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจที่มาเข้าร่วมประชุม โดยใช้ชุด ดูรูมากิ ซึ่งเป็นเสื้อคลุมที่สมัยก่อนเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงศักดิ์หรือขุนนาง แต่ปัจจุบันชาวเกาหลีสวมใส่กันแพร่หลายโดยเฉพาะในฤดูหนาว และเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ ฮันบก (hanbok)

ปี พ.ศ. 2549 (2006) ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพ จะเป็นชุดอะไรไปไม่ได้นอกจาก
"อ๋าวหย่าย" (ao dai) ที่ออกแบบโดย มิงแฮ็ง (Minh Hanh) มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมผ้าไหมตัวยาว สีสันสดใส ตกแต่งด้วยลวดลายดอกบัว

ส่วน “พี่ไทย” ของเราเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2546 (2003)  ก็นำเสนอวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ ในความเป็นไทยออกมาได้อย่างงดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก  ด้วยชุดสูททรงพระราชทานที่ทอจากผ้าไหมยกทองจาก จ.สุรินทร์ ลายสัตว์หิมพานต์ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นเสื้อ 1 ตัว นั้น ใช้เวลาในการตัดเย็บ 3-4 วันเลยทีเดียว
และปี พ.ศ. 2557 นี้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ธรรมเนียมนี้ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่   ด้วยการจัดชุดพื้นเมืองของจีน ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีม่วงเข้ม และสีน้ำเงิน ให้กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุม

ในขณะเดียวกันการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ เพื่อถ่ายรูปหมู่ร่วมกันในวันสุดท้าย ก็ถูกพิพากษ์วิจารณ์ และถูกขนานนามว่าเป็นประเพณีที่ไร้สาระ หรือ “The Silly shirt”  และมีหลายครั้งที่ประเทศเจ้าภาพนั้น มิได้จัดเตรียมชุดประจำชาติให้ผู้นำสวมใส่แต่อย่างใด เช่น เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2538  และ พ.ศ. 2553 เป็นต้น
งานนี้จะสวย หรือจะไร้สาระ  คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล และแต่ประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรดี หรือ แย่ไปทั้งหมด เฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้รับการยกย่องในที่หนึ่ง อาจจะเป็นธรรมเนียมที่เลวร้ายที่สุดของอีกที่หนึ่งก็เป็นได้

 

ขอบคุณ ข้อมูลจาก กระทรวงการต่างประเทศ  

http://www.news.com.auhttp://www.washingtonpost.com/http://www.manager.co.th/

----------------------------------------------

สิงลำพอง เรียบเรียง

 

Manager M 2014-11-12 15:52:23 9491