2024-04-26

กินยาแก้แพ้ แทนยานอนหลับ เสี่ยงผลข้างเคียงโดยไม่รู้ตัว




คุณหมอขอเคลียร์ "กินยาแก้แพ้ แทนยานอนหลับ เสี่ยงผลข้างเคียงโดยไม่รู้ตัว"

หมอเจอคำถามมากมายจากทั้งคนไข้ กระทู้ในพันทิพก็มาก เกี่ยวกับเรื่อง กินยาแก้แพ้แทนยานอนหลับ วันนี้เลยขอมาตอบข้อสงสัยเรื่องนี้ให้เคลียร์ๆค่ะ

 

 

 

 

 

 

------------------------------------


ก่อนอื่น หมอขออนุญาตแบ่งยาแก้แพ้แบบง่าย ๆ เป็นสองกลุ่ม คือแบบที่ "กินแล้วง่วง" (ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 1) กับ "กินแล้วไม่ง่วง" (ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2) ซึ่งคนไข้หลายๆ คนที่เป็นภูมิแพ้และต้องกินยาแก้แพ้เป็นประจำ มักจะเลือกใช้ยาในกลุ่ม "กินแล้วไม่ง่วง" เพื่อให้ใช้ชีวิตตามปกติ ไปเรียน ไปทำงานได้อย่างไม่สะดุด แต่หมอทราบว่ามีหลายๆคน เลือกใช้ยาแก้แพ้แบบ "กินแล้วง่วง" ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นภูมิแพ้ แต่หวังผลข้างเคียงที่ "กินแล้วง่วง" ของมัน ซึ่งก็คือคนที่เลือก "กินยาแก้แพ้แทนยานอนหลับ" นั่นเอง

หมอขอตอบไว้ชัด ๆ ตรงนี้เลยว่า "การกินยาแก้แพ้แทนยานอนหลับ" นั้น "ไม่ควรทำ ห้ามทำ และไม่แนะนำอย่างยิ่ง!" ห้ามขนาดนี้แล้ว แสดงว่ามันมีผลข้างเคียงใช่มั้ยคะหมอ? ใช่ค่ะ นอกจากจะเป็นการใช้ยาผิดประเภทแล้ว ยังทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย

 

ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้แบบ "กินแล้วง่วง" คือ คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น และถ้ากรณีเป็นต้อหินรุนแรงอาจทำให้กำเริบได้ เราควรใช้ยาให้ตรงกับโรคจะดีกว่าค่ะ

 

ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ไปนานๆไม่ทำให้เกิดอาการดื้อยา เหมือนยาปฏิชีวนะ แต่ควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้นนะคะ เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดยา กรณีที่ต้องใช้ยาเป็นเวลานานให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางค่ะ

 

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่ควรระวังก็คือ "การใช้ยาแก้แพ้แบบง่วงในเด็กและผู้สูงอายุ" ค่ะ
การใช้ยาแก้แพ้แบบง่วงหรือยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 1 ในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากเช่น มีผลต่อระบบประสาท กระสับกระส่าย ใจสั่น เห็นภาพหลอน ร้อนวูบวาบ หรือในเด็กเล็กอาจทำให้ชักได้ ดังนั้นองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้ในกรณีทีมีอาการคันรุนแรงที่ต้องการผลของยาที่ทำให้ง่วง หรือกรณีผู้ป่วยที่มีผื่นแพ้ผิวหนังชนิดลมพิษเฉียบพลัน จนมีอาการของระบบอื่น (anaphylaxis) กรณีจำเป็นต้องใช้ยาต้านฮีสตามีนเช่น แพ้อากาศ ลมพิษ ผื่นแพ้ผิวหนัง แนะนำให้ใช้ยารุ่นที่สอง หรือแบบ "กินแล้วไม่ง่วง" จะดีกว่าและผลข้างเคียงน้อยกว่า

 

สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หมอก็มีคำแนะนำเรื่องยาแก้แพ้มาฝากค่ะ
หมอไม่แนะนำให้ซื้อยาใช้เองค่ะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ในกรณีที่มีอาการน้ำมูก หรือคัดจมูก แนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือถ้ามีอาการแพ้อากาศรุนแรงให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (มียาเพียงบางตัวเท่านั้นที่ใช้ได้) หากมีอาการลมพิษ แนะนำให้ใช้ยาบางตัวได้ (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)

 

ด้วยความห่วงใยจากหมอแอน ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
#ภูมิแพ้ก็แพ้เรา #TUCAAP

--------------------------------------

 


*ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องประเภทของยาแก้แพ้*

ประเภทของยาแก้แพ้หรือต้านฮีสตามีนแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ

 

* ยาแก้แพ้แบบ "กินแล้วง่วง" หรือยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 1 เป็นยาที่มีใช้มานานแล้ว ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะชอบรับประทาน เพราะออกฤทธิ์เร็วแต่ระยะเวลาออกฤทธิ์เพียง 6 ชั่วโมง จึงควรรับประทานวันละ 3 ครั้ง ยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงนอน เพราะมีคุณบัติผ่านเข้าสมองได้ดี นอกจากนี้มีคุณสมบัติต้านโคลิเนอร์จิก ซึ่งมีผลทำให้คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น และถ้ากรณีเป็นต้อหินรุนแรงอาจทำให้กำเริบได้ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ chlorpheniramine, diphenhydramine, hydroxyzine

 

* ยาแก้แพ้แบบ "กินแล้วไม่ง่วง" ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 ยาชนิดที่ไม่ง่วงหรือง่วงน้อย และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบด้วย ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง จึงรับประทานเพียงวันละครั้ง นอกจากนี้มีคุณสมบัติจับกับตัวรับได้ดีจึงได้ผลการรักษาดีและผลข้างเคียงน้อยมาก โดยไม่ทำให้ง่วง ไม่ผลทำให้เสมหะแห้งเหนียว และไม่มีผลต่อระบบอื่นของร่างกาย ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ได้แก่ loratadine, cetirizine, fexofenadine, desloratadine, levocetirizine, bilastin, rupatadine

 

 

 

 

 

Source: FB Page ภูมิแพ้ก็แพ้เรา โดย คุณหมอ อรพรรณ

Natui Website 2016-12-23 12:31:15 8670