2024-04-25

การยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของออสเตรเลีย !




การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ออสเตรเลียด้วยวีซ่าอะไร อาจจะเป็นวีซ่านักเรียน วีซ่าคู่ครอง วีซ่า Working Holiday หรือ วีซ่าชั่วคราว หรือวีซ่าถาวร 

 

สำนักงานภาษีออสเตรเลียหรือ ATO ได้ออกมาเตือนว่า ผู้ที่ไม่ยื่นแบบขอคืนภาษี (tax return form) โปรดอย่าได้คิดว่าจะถูกลงโทษสถานเบา แต่จะมีโทษถึงอาญา ดังนั้นวันนี้เรามาอ่านรายละเอียดและวีธีการยื่นเอกสาร และข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นวีซ่าที่เขาอนุญาตให้คุณทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมายที่นี่ และถ้าคุณมีรายได้เข้ามาจากการทำงาน หรือรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยจากเงินเก็บออมในธนาคาร หรือรายได้ที่ได้จาก Centrelink หรือเปิดธุรกิจส่วนตัว พูดง่ายๆคือ ทุกคนที่มี Tax File Number (TFN) หรือ Australian Business Number (ABN) ทุกคนจำเป็นต้องทำการแจ้งรายละเอียดรายได้และค่าใช้จ่ายของเราและยื่นภาษีต่อสำนักงานภาษีออสเตรเลีย หรือ Australia Taxation Office หรือเรียกสั้นๆว่า ATO และหากเรายื่นภาษีช้า หรือหลีกเลี่ยงในการยื่นภาษี เราจะถูกปรับเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน

 

 

Individual Tax Return หรือ การยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของออสเตรเลีย 

 

ปีภาษีของออสเตรเลีย

การยื่นภาษีของทางออสเตรเลียจะทำการยื่นหลังจากสิ้นปีภาษีของทุกปี ซึ่ง ปีภาษีของที่ออสเตรเลีย คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายนปีถัดไป และการการยื่นภาษีก็จะต้องยื่นก่อน วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีหลังสิ้นปีภาษีนั้นๆ

 

ใครบ้างที่ต้องยื่น Tax Return


1. ผู้ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียระหว่างปีภาษี และได้เสียภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย ทั้งจากเงินเดือนหรือรายได้ที่ได้รับ


2. ผู้ที่มีสิทธิ์รับ senior หรือ pension tax offset


- สำหรับคนที่ไม่มีคู่ครอง และมีรายได้ต่อบุคคลเกิน 32,279 เหรียญ ต่อปี


- คนที่มีคู่ครอง และคนใดคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ Nursing Home หรืออยู่แยกกันเนื่องจากเจ็บป่วย และมีรายได้เกิน 31,279 เหรียญต่อปี โดยไม่รวมรายได้ของคู่ครอง


- สำหรับคนที่มีคู่ครองและอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งตลอดปีภาษีและมีรายได้เกิน 28,974 เหรียญโดยไม่รวมรายได้ของคู่ครอง


3. ได้รับเงิน Allowance ต่างๆ จากรัฐบาลหรือ Centrelink เกิน 20,542 เหรียญ ตัวอย่าง allowance ก็อย่างเช่น Newstart Allowance, Youth Allowance, Austudy payment, Parenting payment, Partner allowance, Sickness allowance, Special benefit และ Widow allowance 


4. คนที่มีอายุเกิน 18 ปี และมีรายได้เกิน 18,200 เหรียญต่อปี หรือ อายุต่ำกว่า 18 ปีและมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างเกิน 416 เหรียญต่อปี หรือ ต่างชาติที่มีรายได้เกิน 1 เหรียญต่อปี


5. อื่นๆ คือ


- ได้รับ PAYG Payment Summary ที่มี Reportable Fringe Benefit,


- ได้รับ Payment Summary ที่มี Employer Superannuation Contribution


- ได้รับส่วนลดหรือ Rebate จากประกันสุขภาพ


- มีธุรกิจส่วนตัว


- ได้ยื่น Tax Return เป็น loss หรือรายจ่ายมากกว่ารายได้ เมื่อปีภาษีที่ผ่านมา


- อายุเกิน 60 ปีและได้รับเงินก้อนจาก Superannuation รวมถึงส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษี (Untaxed Element)


- อายุเกิน 60 ปีและได้รับเงินก้อนจาก Superannuation รวมทั้งส่วนที่ต้องและไม่ต้องเสียภาษี (Taxed or Untaxed Element)


- ได้รับเงินปันผลจาก Trust Fund (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) หรือจาก หุ้นส่วนบริษัท


- และอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ก็สามารถเช็คได้จากทาง website ของ ATO ว่าจะต้องยื่นเสียภาษีหรือไม่

 

การยื่นภาษีนั้นทำได้ 3 วิธี คือ


1. ยื่น online โดยใช้โปรแกรมของ ATO (Australian Tax Office) ที่เรียกว่า e-Tax ซึ่งโปรแกรมนี้จะupdate ทุกปีและให้ดาวน์โหลดได้หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งวิธีนี้ก็จะง่ายและเร็วหากผู้ยื่นเข้าใจว่ารายได้มีอะไรบ้างและหักอะไรได้บ้าง หลังจากเติมข้อมูลต่างๆตามขั้นตอนแล้วโปรแกรมนี้ก็จะคํานวณให้ว่าเราจะได้ภาษีคืนหรือจะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไหร่ แต่ว่าก็ต้องรอจดหมายจากทาง ATO เพื่อความแน่ใจอีกที 

 

โปรแกรมที่ e-Tax นี้ยังมี Prefill function ที่อาจจะเติมข้อมูลต่างๆ ไว้ให้เราแล้วเช่น รายได้จากค่าจ้าง (Salary) และภาษีที่ผู้จ้างหัก ณ ที่จ่าย หรือ PAYG, รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ Medicare benefit บางทีโปรแกรมนี้ก็ยังช่วยเราเติมข้อมูลจาก file ที่เรา ใช้จากปีที่แล้วอีกด้วย และปีนี้เป็นปีแรกที่ทาง ATO ได้ออกโปรแกรมใหม่อีกโปรแกรมหนึ่งซึ่งเรียกว่า myTax ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ download ได้จากทาง Tablet, Smart Phones หรือ Computer โปรมแกรมนี้เหมาะสำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้และมีค่าลดหย่อนภาษีที่ไม่สลับซับซ้อน ซึ่งก็คือมีรายได้จาก Salary (เงินเดือน), Allowance (เบี้ยเลี้ยง), ดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินบันผลจากหุ้น (Dividends) และเงินที่ได้รับจากทางรัฐบาล (Australian Government allowances) ส่วนค่าลดหย่อนภาษีก็เป็นพวกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับงาน (Work Related Expense), เงินบริจาค และค่าใช้จ่ายจากการยื่นภาษี และ Offset จาก Senior Australians และ Pensioners Tax Offset และ ส่วนลดประกันสุขภาพ (Private Health Insurance Rebate) สามารถใช้โปรแกรมเช็คได้จากเวปไซด์ของทาง ATO ได้ที่ https://www.ato.gov.au/Individuals/Lodging-your-tax-return/Lodge-online/ การยื่นโดยภาษีโดยใช้โปรแกรมของ ATOหรือยื่น Online นี้จะสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งทาง ATO จะใช้เวลาประมาณ 12 วันทำการเท่านั้น


2. ยื่นทางไปรษณีย์ โดยกรอกแบบฟอร์ม Tax Return for individuals โดย download ได้จาก ATO website https://www.ato.gov.au/uploadedFiles/Content/MEI/downloads/ind40306n25410614.pdf หรือ สั่งผ่านทาง ATO website หรือ โทรไปที่ 1300 720 092 ระหว่าง 8.00-18.00 วันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่ว่าก่อนโทรควรจะเช็คก่อนว่าเราต้องการฟอร์มอะไรบ้างจากทาง ATO ซึ่งนอกจากจะขอแบบฟอร์มสำหรับ Tax Return for Individual เราอาจจะขอ Instructions สำหรับกรอกแบบยื่นภาษีด้วยก็ได้ ทาง ATO จะได้ส่งมาให้ทีเดียว หรือเราอาจจะไปเอาแบบฟอร์มที่ ATO เองได้
การยื่นภาษีด้วยวิธีนี้ทาง ATO อาจจะใช้เวลานานถึง 50 วันกว่าจะติดต่อกลับมา


3. ใช้บริษัทรับทำบัญชี หรือ Tax Agent ที่ลงทะเบียนกับ Tax Practitioners Board - Tax agent ส่วนใหญ่สามารถยื่นภาษีหลังจากวันที่ 31 ตุลาคมได้ แต่ว่าจะเราจะต้องนัดเจอกับ Tax agent ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับTax agent เราสามารถนำไปหักภาษีได้ นอกจาก Tax Agent แล้วเรายังสามารถให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวช่วยทำ Tax return ให้เราก็ได้ แต่ว่าเขาจะต้องเซ็นชื่อในแบบฟอร์มว่าช่วยเรากรอก และจะต้องเป็นคนรับผิดชอบหากมีข้อผิดพลาด


รายได้ที่ต้องแสดงมีอะไรบ้าง?


1. รายได้ที่ได้จากค่าจ้าง มีอะไรบ้าง


1.1 เงินเดือนที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง (Salary and wages)


1.2 Allowance ต่างๆ เช่น ค่ารถที่ผู้จ้างจ่ายให้ เช่น car allowance ที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้กับเรา, ค่าเดินทาง (travel allowance) และรายได้อื่นๆจากผู้จ้าง เช่น ค่า Commission


1.3 Lump sum payment – เงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายตอนเลิกจ้างสำหรับ วันลากิจที่เรามีสิทธิ์ลาแต่ว่ายังไม่ได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น unused annual leave และ long service leave entitlement หรือเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายเพิ่มให้เมื่อออกจากงาน ซึ่งเรียกว่า Employee Termination Payment (ETP)


1.4 Fringe benefit ซึ่งก็คือค่าสวัสดิการต่างๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากผู้ว่าจ้าง เช่น รถยนต์บริษัทที่ให้ใช้ส่วนตัวได้, เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ผู้ว่าจ้างให้ยืม, ประกันสุขภาพที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้, หรือบ้านพักตากอากาศที่นายจ้างอนุญาตให้ไช้ได้ ผู้ว่าจ้างจะต้องส่ง Payment Summary ให้ลูกจ้างไม่เกินวันที่ 14 กรกฎาคมหลังสิ้นปีภาษี ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆดังนี้ ชื่อลูกจ้างพร้อมที่อยู่, Period of payment, Tax file number, Total Tax Withheld, Gross Payment, Reportable fringe benefit (FBT), Reportable employer superannuation contribution, Total allowance และ Deduction ซึ่งข้อมูลต่างๆนี้นำไปใช้เติมในแบบยื่นภาษีได้เลย หากปีไหนผู้เสียภาษีเปลี่ยนที่ทำงานหรือผู้ว่าจ้างก็ต้องกรอกข้อมูลจากทุกๆ Payment Summary ที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างทุกราย

2. รายได้จากเงินที่ได้รับจากรัฐบาล เช่น Pension หรือเงินจาก Centrelink และ เงินที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต


3. รายได้จากการลงทุน ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝาก, เงินบันผลจากหุ้น, รายได้จากค่าเช่า และ รายได้จากเงินลงทุนต่างๆ


4. Capital gains – รายได้ที่ได้จากรับจาก การขายบ้าน,ขายหุ้นหรือ จากการลงทุน


5. รายได้จากการทำธุรกิจหรือมีหุ้นส่วนในธุรกิจ และ Trust fund (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)


6. รายได้อื่นๆ นอกเหนือจากรายการที่กล่าวมาแล้ว


ค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนภาษี (Tax deductions) มีอะไรได้บ้าง?


กฏง่ายๆ สำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่ออสเตรเลียก็คือ ค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่เราจ่ายไปเพื่อให้ได้รับค่าจ้างมา แต่ว่าทาง ATO ก็มีกฏว่า " ค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนภาษีนั้นต้อง claim ในปีภาษีเดียวกับที่เราทำ Tax Return และ เราจะต้องไม่ขอ claim ค่าใช้จ่ายนั้นๆจากนายจ้าง และจะต้องมีหลักฐานเช่น Tax Invoice หรือ Tax Receipt หากค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปมี GST อยู่ด้วยเวลาทำ claim ก็รวมยอด GST ไปด้วยเลย "


เราจะ Claim อะไรได้บ้าง


1. ค่าที่พักและค่าอาหารระหว่างที่เราไปทำงานต่างสถานที่และต้องค้างคืน (ค่า accommodation and meals if away from home overnight)


2. ค่าเดินทางที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น เช่น เดินทางจากที่ทำงานหนึ่งไปอีกที่ทำงานหนึ่ง, เดินทางไปพบลูกค้า หรือเดินทางจากที่ทำงานไปที่เรียน แต่ว่าเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานนี่ claim ไม่ได้นะคะ ค่าเดินทางที่พูดถึงนี้ claim ได้ทั้งที่จากที่เราใช้ Public transport หรือรถยนต์ส่วนตัว


หากใช้รถยนต์ส่วนตัวก็มีวิธีการคำนวณ 4 วิธี


- Cents per km ซึ่ง claim ได้สูงสุด 5000 km ต่อปี วิธีนี้ไม่ต้องมีหลักฐาน แต่ว่าต้องสามารถชี้แจ้งได้ว่าคำนวณจำนวนกิโลเดินทางมาได้อย่างไร


- 12% of original value method ซึ่งก็คือ claim 12% จากราคาต้นหรือราคาตลาด (market value) ของรถ สำหรับรถที่มีราคาแพงหรือLuxury car ก็ต้องเช็คดูว่าทาง ATO จำกัดราคารถไว้ที่เท่าไหร่ และต้องใช้รถเดินทางเกี่ยวกับงานเกิน 5000 km อันนี้ก็ไม่ต้องมี หลักฐานอะไรแต่ว่าต้องสามารถชี้แจ้งได้ว่าคำนวณยอด กิโลเมตรมาได้อย่าไร


- One Third of actual expenses method ซึ่งต้องใช้รถเดินทางเกี่ยวกับงานเกิน 5000 km สามารถ claim ได้ หนึ่งส่วนสามของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปกับรถ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันและค่าซ่อมรถ ซึ่งไม่รวมค่าซื้อรถหรือดอกเบี้ยสำหรับผ่อนรถหรือค่าแต่งรถ ถ้าจะ Claim ด้วยวิธีนี้ต้องมีการจดบันทึกกิโลเมตรจากหน้าปัดรถ และมี Tax receipt หรือ Tax invoice ด้วย


- Logbook Method วิธีนี้จะคำนวณจากเปอร์เซนต์ที่ใช้จริงกับงาน ค่าใช้จ่ายที่ claim ได้ก็พวกค่าซ่อมรถและค่าน้ำมัน ถ้าจะ Claim ด้วยวิธีนี้ต้องมีหลักฐานบันทึกข้อมูลลงบน Log book ว่าใช้เดินทางสำหรับงานกี่กิโลเมตรและมีต้องเก็บ Tax receipt หรือ Tax invoice ด้วย


3. ค่าเสื้อผ้าและค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า สำหรับ uniform เช่น ชุดเชฟ, uniform ของบริษัท หรือ ค่าเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่เป็น Protective Clothing เช่น Hi-Vis หรือ safety shoes


4. ค่าของขวัญหรือเงินบริจาค ซึ่งได้บริจาคให้กับองค์กรที่สามารถออก ใบ deductible gift recipients (DGRs) ต้องเป็นเงินบริจาคที่เราให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เงินที่เราบริจาคให้กับองค์กรการกุศลนั้นสามารถหัก Tax ได้หากบริจาคเกิน 2 เหรียญ
แต่ที่บริจาคให้คนที่รับบริจาคตามสี่แยกหรือกล่องบริจาคนั้นไม่สามารถ claim ได้


5. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเกิน 300 เหรียญซึ่งเป็นของส่วนตัว แต่ว่าใช้สำหรับทำงานจากบ้าน ซึ่งรวมทั้งค่าซ่อมและค่าเสื่อมสภาพ (Depreciation)


6. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่เราออกเองสำหรับเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ทำ ซึ่งค่าใช้จ่ายนั้นก็รวมทั้งค่าเทอม, ค่าหนังสือ, ค่าเดินทาง, และค่า student union fee และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่ว่าเงินที่จ่ายคืนรัฐบาลสำหรับ High Education Loan Program นั้นไม่สามารถหักภาษีได้


7. ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ทำงานจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ค่าโทรศัพท์ และค่า internet ซึ่งไม่รวมค่า connection fee, ค่าไปรษณีย์, ค่าเครื่องเขียน สามารถใช้หักภาษีได้


8. ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่เสียไปสำหรับการลงทุนเช่น ค่า account-keeping fees, ค่า management fees, ค่าดอกเบี้ยที่ยืมเงินมาลงทุน, ค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านที่ให้เช่า


9. ค่าจอดรถ สำหรับ work-related claims เท่านั้น


10. ค่ารักษาพยาบาล (Medical Expense) อันนี้ก็จะหักภาษีได้ตามรายละเอียดดังนี้


- คนโสดที่ไม่มีบุตรภายใต้การดูแล ที่มีรายได้ต่ำกว่า 88,000 เหรียญต่อปี สามารถ claim 20% ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิน 2,162 เหรียญขึ้นไป


- คนโสดที่ไม่มีบุตรภายใต้การดูแล ที่มีรายได้มากกว่า 88,000 เหรียญต่อปี สามารถ claim 10% ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิน 5,100 เหรียญขึ้นไป


- สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า176,000 เหรียญต่อปี สามารถ claim 20% ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิน 2,162 เหรียญขึ้นไป


- สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า176,000 เหรียญต่อปี สามารถ claim 10% ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิน 5,100 เหรียญขึ้นไป

 

ย้ำเตือนกันอีกครั้ง สำหรับวันสุดท้ายของการยื่นแบบขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีการเงิน 2014-15 คือวันที่ 31 ตุลาคม 2015 นี้ หวังว่าข้อมูลทั้งหวัดจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ :')

 

 

 

 

ที่มา : Story by Ann ,https://www.facebook.com/MelbMagazine/posts/662484537167967

Natui Website 2015-09-30 04:11:14 29521