2024-04-25

เปิด พระราชนิพนธ์ แรก ฉบับเต็ม… เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ (ตอนที่ 1)




พระราชนิพนธ์  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ เป็นพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานแก่ วงวรรณคดี อันเป็นบันทึกความทรงจำ หลังจากที่ทรง ‘รับ’ คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นสืบสันตติวงศ์ไอศวรรย์สมบัติแล้ว จำต้องเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙

 

 

 

 

นับถึงวันนี้พระราชนิพนธ์ฉบับนี้มีอายุครบ ๗๐ ปีเต็มบริบูรณ์แล้ว ถือเป็นงานทรงคุณค่าสูงสุดอีกองค์หนึ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้แก่ปวงชนชาวไทย

ในการนี้นิตรสารแพรวขอน้อมอัญเชิญมาเผยแพร่อีกครั้งอย่างครบถ้วนทุกถ้อยความและสะกดตามต้นฉบับ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

 

เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

 

 

“วงวรรณคดี” ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของ “วงวรรณคดี” อยู่บ้าง และเนื่องด้วยไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้บ้าง เช่น ดนตรี ศิลป วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ กฎหมาย ฯลฯ ได้ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ดีพอ ฉะนั้นจึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้ จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุกๆ คนที่มาถวายความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดีที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

 

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย.

เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปรกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อ พระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา.

ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่า รถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวัน อังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน.

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙

เก็บของลงหีบและเตรียมตัว…

วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ 

เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว!  อะไรก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม… บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง.

เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาซิ” เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก… วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่มากันคน ช้าเกินไป…

วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ 

วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฎว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง

 

 

 

 

รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว.

เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ๑๑.๔๕ นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย.

เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหวกลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง ๑๒ นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร.

บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา (ซีลอน) เสียงเครื่องบินสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้นจึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือหลับตาเสียแล้วนิ่งคิด… แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่มของเครื่องยนต์นั้น หวนกลับไปนึกดูเมื่อ ๙ เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง ๗ ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย… เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่ล่วงแล้วมาด้วย… สจ๊วตเข้ามาขัดจังหวะเสีย ทำให้ความคิดที่กำลังเพลิดเพลินจางไปเสียจากสมอง เขานำอาหารกลางวันที่มีรสกลมกล่อมเข้ามาให้ การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าไม่มีอะไรเสียเลย นอกจากท้องทะเลเขียวครามอันแสนลึก นานๆ จะแลเห็นเกาะบ้างเป็นครั้งคราว.

เรามาถึงเมืองเนแกมโบ (Negambo) ใกล้ๆ กับโคลัมโบ เมืองหลวงของเกาะลังกา ภายหลังจากที่ได้บินมาเป็นเวลานานถึง ๘ ชั่วโมงกับ ๑๕ นาที เดี๋ยวนี้ ๑๘.๔๕ นาฬิกาตามเวลาของลังกาแล้ว เมื่อเทียบเวลาที่กรุงเทพฯ ที่นี่ช้ากว่า ๑ ชั่วโมงกับ ๓๐ นาทีพอดี.

ข้าหลวงประจำเกาะลังกาคือ เซอร์ยอห์น เฮาเวิรด (Sir John Howard) ได้เดินทางจากโคลัมโบมาเพื่อต้อนรับเรา ข้าพเจ้าขึ้นนั่งรถยนต์มีท่านข้าหลวงตามมาด้วย ส่วนแม่นั้นไปกับภรรยาของเขา ระยะทางจากสนามบินไปยังจวนข้าหลวงในเมืองโคลัมโบต้องนั่งรถไปราว ๓๐ นาที อันเป็นระยะที่กำลังสบายและมีโอกาสได้ชมภูมิประเทศตามถนน – ตามที่เห็นมาด้วยตาและตามคำบอกเล่าของเซอร์ยอห์น เฮาเวิรด รู้สึกว่าเกาะลังกานี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเมืองไทยเราเสียจริงๆ เป็นเมืองที่อุดมดี และดูก็งามตา ประชาชนก็สุภาพและมีนิสัยดี เหตุที่ทำให้เหมือนมากนี้ข้อสำคัญอยู่ที่นับถือศาสนาร่วมกันกับไทยเรา.

พอมาถึงจวนข้าหลวง ก็ตรงเข้าห้องพัก เป็นห้องกว้างและสบาย ที่นี่ไม่ค่อยร้อนเหมือนเมืองไทย ทั้งไม่มียุงด้วย ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีมุ้ง เราได้พักผ่อนชั่วครู่ภายหลังที่ได้เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย หูยังอื้ออยู่เพราะเสียงเครื่องบิน กินข้าวมื้อเย็นกับข้าหลวง และรู้สึกดีใจเหลือเกินที่ได้หลับนอนตามสบาย เพราะรุ่งเช้าพรุ่งนี้จะต้องบินต่อไปยังเมืองการาจี.

 

โปรดติดตามตอนต่อไป ในตอนที่ 2 ค่ะ

 

 

Source: www.praew.com 

Natui Website 2016-10-18 15:04:04 1685